messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้า call ข้อมูลการติดต่อ

องค์การบริหารส่วนตำบล
บางสระเก้า
อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
check_circle ประวัติความเป็นมา
ประวัติตำบลบางสระเก้า
พื้นที่ดั้งเดิม ในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่ชาวบ้านจะเข้ามาลงรากสร้างฐาน พื้นที่นี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นที่เนินและที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่แถบชายทะเล มีลำคลองไหลผ่านเป็นการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างป่าไม้เบญจพรรณ ได้แก่ ต้นยางนา ต้นยางใต้ ตะเคียน ต้นไผ่ ต้นประดู่ ซึ่งเป็นพืชน้ำจืด และป่าชายเลน ได้แก่ ต้นโกงกาง ต้นจาก ต้นกวาด ต้นแสม ต้นลำพู ต้นลำแพน ต้นกะสัก ต้นโปรง ต้นกะบูน ซึ่งเป็นพืชน้ำเค็ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าเบญจพรรณและป่าชายเลน จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหาอาหารของสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า เสือลายพาดกลอน เสือปลา เสือแปลง นากทะเล จรเข้น้ำเค็ม ลิงแสม (ปัจจุบันสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้ว) นอกจากนี้ยังมีสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานอีกหลายชนิด ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงจากการบอกเล่าและพบเห็นของชาวบ้านในรุ่นปู่,ย่า ที่เล่าสืบต่อกันมา และหลักฐานอ้างอิงที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของช้างป่า ก็คือ แอ่งดินที่ช้างป่ามานอนรวมกันและเกลือกกลิ้ง เมื่อมีฝนตกก็จะมีน้ำขังในแอ่งดิน ช้างได้อาศัยน้ำที่ขังอยู่สำหรับกินและนอนเล่นจนมีขนาดกว้างและลึกมากขึ้น มีปรากฏทั่วไปในพื้นที่จำนวน 9 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า “สระ” ต่อมาชาวบ้านได้ใช้จำนวนสระมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางสระเก้า” และมีชื่อเรียกสระเหล่านี้ตามสถานที่และตามชื่อของชาวบ้านที่มีที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับสระในขณะนั้น ดังนี้ สระที่ 1 เรียกว่า “สระตาเผื่อน” อยู่ในพื้นที่หมู่ 1 บ้านเนิน(ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) สระที่ 2 เรียกว่า “สระหน้าโบสถ์” อยู่ในพื้นที่วัดบางสระเก้า หมู่ 2 บ้านกลาง(ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่งเป็นบ่อน้ำใช้ของพระภิกษุสามเณรในวัด) สระที่ 3 เรียกว่า “สระตาอ๋อ” อยู่ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านกลาง(พื้นที่บริเวณนี้ในเวลาต่อมาได้ถวายเป็นของวัดและถูกถมกลบไปแล้ว) สระที่ 4 เรียกว่า “สระยายจ๋วน” อยู่ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านเนินกลาง(ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) สระที่ 5 เรียกว่า “สระยายสุก” อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านแถวนา (ปัจจุบันบูรณะเป็นสระน้ำเพื่อการเกษตร) สระที่ 6 เรียกว่า “สระขรัวมี” อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านแถวนา (ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) สระที่ 7 เรียกว่า “สระตาบา” อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านแถวนา (ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) สระที่ 8 เรียกว่า “สระตาหอม” อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านแถวนา (ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) สระที่ 9 เรียกว่า “สระหนองตาพุ่ม” อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านแถวนา (ปัจจุบันถมกลบไปแล้ว) นอกจากสระน้ำแล้วยังมีชื่อของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับช้าง ได้แก่ 1. คลองช้าง เป็นคลองเล็กๆ แยกจากคลองสายหลักที่ไหลผ่านและเชื่อมติดต่อกัน เป็นลำคลองที่มี ลักษณะปลายทางเป็นคลองตัน สันนิษฐานว่า เป็นเส้นทางเดินข้ามคลองสายหลัก ที่ช้างใช้เดินข้ามเพื่อหาอาหารกินเป็นประจำ จนกลายเป็นล่องคลองในเวลาต่อมา 2. ท่าช้างอยู่ติดริมคลองหนองบัวเป็นคลองแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างบ้านเสม็ดงามและบางสระเก้า สันนิษฐานว่าเป็นทางขึ้นลงของช้างที่ใช้ข้ามไปมาระหว่างบ้านเสม็ดงามและบางสระเก้า
พื้นที่ดั้งเดิม




การอพยพสร้างถิ่นฐาน
มีการสันนิษฐานว่า ผู้ที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานเป็นชนกลุ่มแรกน่าจะเป็นชาวชองที่เป็นคนพื้นที่เดิมของจังหวัดจันทบุรี ต่อมามีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือ พื้นที่ตำบลบางสระเก้ามีทำเลเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่พักแรมและหลบมรสุม การติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ยาวนานเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้นจากที่พักชั่วคราวมาเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินหลัก จากกลุ่มชนเชื้อชาติเดียวขยายตัวเป็นกลุ่มชนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกันมีทั้งชาวชอง ชาวไทยภาคใต้ ชาวจีน ชาวญวน มีร่องรอยหลักฐานที่สันนิษฐานได้ 1. จากสำเนียงภาษาพูดพื้นบ้าน จะมีลักษณะเป็นสำเนียงชองผสมกับภาษาพื้นบ้านภาคใต้ ภาษาพูดคำบางคำเป็นภาษาถิ่นภาคใต้ เช่น ขนำ(ขะ-หนำ) หมายถึง ที่พักอาศัยชั่วคราว ปลัก หมายถึง หลุมดินที่มีน้ำขังขนาดเล็กถึงขนาดย่อม ถ้าขนาดใหญ่จะเรียกว่า “สระ” ตัวอย่างของปลัก เช่น ปลักควาย เกิดจากควายนอนเล่นจนกลายเป็นแอ่งดินที่มีน้ำขัง เป็นต้น เอ๊าะ หมายถึง คำเรียกผู้ให้กำเนิดที่ใช้แทนคำว่าพ่อ แมะ หมายถึง คำเรียกผู้ให้กำเนิดเช่นกันใช้แทนคำว่าแม่ 2. จากประเพณีพื้นบ้าน เช่น การแต่งงาน จะมีพิธีบอกผี หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของฝ่ายเจ้าสาวที่ได้ตายไปแล้ว จะมีการบอกกล่าวว่า ลูกหลานได้มีการออกเหย้า ออกเรือน อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธี จะเป็นลูกปัดสีต่างๆ ซึ่งชาวชองนิยมใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ 3. จากต้นตระกูลของชาวบ้านในปัจจุบัน จะมีเชื้อสายสืบทอดมาจากชาวจีนบ้าง ชาวญวนบ้าง
การอพยพสร้างถิ่นฐาน